ads by google

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

การคลอด


การคลอดแบ่งได้กี่ระยะ

เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อขับเด็กรก และน้ำคร่ำ ออกจากโพรงมดลูกมาสู่ภายนอกเมื่อครบกำหนด โดยต่อมใต้สมองกลีบหลังจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งไปกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบรัดตัวอย่างสม่ำเสมอและถี่ขึ้น เพื่อที่จะดัดศีรษะของทารกในครรภ์ให้ลงไปอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ในขณะเดียวกันถุงน้ำคร่ำและศีรษะทารกในครรภ์จะช่วยทำให้ปากมดลูกขยายตัวมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า เริ่มเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์แล้ว

การคลอดแบ่งออกเป็น ๓ ระยะด้วยกัน คือ

ระยะที่ ๑ เป็นระยะการเปิดขยายของปากมดลูก เริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริง ปากมดลูกเริ่มเปิดเมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ ระยะนี้จะสิ้นสุดลงโดยใช้เวลาประมาณ ๘-๑๒ ชั่วโมงในครรภ์แรก และ ๖-๘ ชั่วโมงในครรภ์หลัง


ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่ทารกในครรภ์ถูกขับออกจากโพรงมดลูก เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดเต็มที่จนทารกคลอดออกมาทั้งตัว ขณะที่ทารกเคลื่อนลงต่ำกดเบียดทวารหนัก ทำให้รู้สึกอยากเบ่งอุจจาระที่เรียกว่า "มีลมเบ่ง" ระยะนี้เป็นระยะที่มีกลไกของการคลอดเกิดขึ้น ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงในครรภ์แรก และ ๑ ชั่วโมงในครรภ์หลัง

ระยะที่ ๓ เริ่มตั้งแต่ทารกคลอดแล้วไปจนกระทั่งรกคลอด ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ นาที ไม่ว่าจะเป็นครรภ์แรกหรือครรภ์หลัง ๆ



การคลอดที่กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นการคลอดปกติ ส่วนการคลอดที่ผิดปกติ ได้แก่



๑. การใช้เครื่องมือช่วยคลอด

ถ้าระยะที่ ๒ ของการคลอดไม่เป็นไปตามปกติ เช่น มดลูกบีบรัดตัวไม่ดี แรงเบ่งไม่ดี หรือแม่มีโรคบางอย่างที่ไม่สมควรให้เบ่งนาน ๆ เพราะจะเกิดอันตรายได้ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด เครื่องมือที่ใช้มี ๒ ชนิด คือเครื่องสูญญากาศดูดศีรษะทารก และคีมจับศีรษะทารก ซึ่งถ้าแพทย์ใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีอันตรายต่อทารก แต่จะมีประโยชน์ เพราะศีรษะทารกไม่ถูกกดบีบอยู่ในทางคลอดนาน และช่วยให้แม่ไม่ต้องเบ่งมากอันจะเป็นอันตรายต่อทารก


๒. การผ่าท้องคลอด

หมายถึงการผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้องแทนการคลอดทางช่องคลอดอย่างปกติ จะกระทำต่อเมื่อแพทย์เห็นว่า ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เช่น ขนาดของทารกกับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกัน รกเกาะต่ำ หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เป็นต้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องรีบผ่าตัดเอาทารกออก มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในท้อง เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะพิษแห่งครรภ์ เป็นต้น การผ่าท้องคลอดนี้อาจทำก่อนเจ็บท้อง หรือขณะเจ็บท้องก็ได้ สุดแต่ข้อบ่งชี้ในการทำผ่าตัด






ขอบคุณข้อมูลจาก    kanchanapisek

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น