ads by google

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

การตั้งครรภ์ (Pregnancy)


การตั้งครรภ์ (Pregnancy)

เมื่อไข่ (ova) ในรังไข่ของผู้หญิงข้างใดข้างหนึ่งสุก จากการกระตุ้นของฮอร์โมนกระตุ้น ไข่สุก Follicle Stimulating Hormone (FSH) จะมีการตกไข่ในช่วงประมาณครึ่งของรอบเดือน ไข่จะเดินทางจากท่อนำไข่ไปถึงมดลูกจะใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน แต่ไข่จะเหมาะสมต่อการปฏิสนธิกับอสุจิในช่วงเวลา 1 วันแรกของการตกไข่ (Moore, 1982) ถ้าอสุจิไม่ผสมกับไข่ในเวลานี้ ไข่จะสุกมากเกินไปและจะสลายไปเมื่อถึงมดลูก พร้อมกับมีการหลุดลอกของผนังชั้นในมดลูกกลายเป็นประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด

ผู้ชายจะหลั่งอสุจิออกมาขณะร่วมเพศจนถึงจุดสุดยอด (orgasm) ครั้งละประมาณ 200-300 ล้านตัว อสุจิจะผ่านช่องคลอดและปากมดลูก เข้าสู่มดลูก (uterus) และไปสู่ท่อนำไข่ ซึ่ง เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างไกลและต้องผ่านอุปสรรค อสุจิบางตัวอาจเมื่อยล้าก่อนเดินทางไปถึง ท่อนำไข่ บางตัวอาจหมดแรงและตายเนื่องจากภาวะกรดของช่องคลอด จะเหลืออสุจิเพียง 2,000-3,000 ตัว ที่สามารถเดินทางถึงท่อนำไข่ และจะมีไม่ถึง 50 ตัวที่สามารถเดินทางถึงไข่ที่เคลื่อนมาตามท่อนำไข่ (Moore, 1982) อสุจิส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ภายในอวัยวะเพศหญิงได้เพียง 3 วัน แต่มีจำนวนน้อยที่อาจอยู่นานถึง 5 วัน (Wilcox และคณะ, 1995) เมื่ออสุจิพบกับไข่ อสุจิจะหลั่งเอนไซม์ออกมาและเจาะเข้าไปในไข่เกิดการปฏิสนธิ (conception) ภายใน 24-30 ชั่วโมง นิวเคลียสของอสุจิและไข่จะรวมตัวกันกลายเป็นเซลล์เดียวกันเรียกว่า ไซโกต (zygote) ทำให้เกิดรหัสยีนส์ของมนุษย์คนใหม่เกิดขึ้น

หลังจากนั้นไซโกตจะแบ่งตัวออกเป็น 2, 4 และ 8 เซลล์ และจำนวนเซลล์จะทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ขณะที่เซลล์มีการแบ่งตัวนั้นขนาดของเซลล์จะเล็กลง เซลล์เหล่านี้รวมตัวกันเรียกว่า มอรูล่า (morula) เมื่อรวมกันได้ประมาณ 100 เซลล์ ที่ศูนย์กลางของเซลล์จะมีช่องว่างที่มีน้ำบรรจุอยู่เรียกว่า บลาสโตซิส (blastocyst) และเมื่อบลาสโตซิสเคลื่อนตัวมาถึงมดลูกบลาสโตซิสก็อาจจะลอยตัวอยู่ได้หลายวัน ในระยะนี้จะมีขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุด โดยปกติการฝังตัวของ บลาสโตซิสจะเสร็จสิ้นภายใน 14 วันหลังจากการปฏิสนธิ และบลาสโตซิสที่ฝังตัวแล้วจะเรียกว่า ตัวอ่อน หรือเอ็มบริโอ (embryo) และจะเรียกว่าทารกในครรภ์ หรือฟีตัส (fetus) เมื่ออายุ 8 สัปดาห์

ระยะการตั้งครรภ์ใช้เวลาประมาณ 260-270 วัน หรือประมาณ 9 เดือน เป็นระยะที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทางด้านร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ไตรมาสแรก ไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ดังรายละเอียดดังนี้

ระยะไตรมาสแรก (The first trimester)

เมื่อประจำเดือนขาดหายไป ผู้หญิงมักอยากจะทราบข้อมูลโดยเร็วว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ จึงต้องมีการตรวจการตั้งครรภ์ (pregnancy test) ซึ่งมักจะตรวจโดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรืออาจจะซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์ได้จากร้านขายยาและนำไปตรวจที่บ้านได้ การตรวจการตั้งครรภ์เป็นการตรวจหาฮอร์โมนที่หลั่งโดยรก เรียกว่า human chorionic gonadotropin หรือ HCG ซึ่งจะตรวจพบจากปัสสาวะได้ ผลการตรวจการตั้งครรภ์นี้จะให้ผลถูกต้องแน่นอน (ร้อยละ 95-98) ก็ต่อเมื่อขาดประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ระดับฮอร์โมน HCG ในเลือดตรวจพบได้เร็วกว่าในปัสสาวะ (King, 1999)

อาการที่พบได้โดยทั่วไปของการตั้งครรภ์ในระยะนี้คืออาการคลื่นไส้ (nausea) ซึ่งเรียกว่า แพ้ท้อง หรือมอร์นิ่งซิคเนส (morning sickness) ร้อยละ 70 ของผู้หญิงตั้งครรภ์เคยมีอาการแพ้ท้อง ตั้งแต่อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยทั่วไปจะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4-6 หลังจากการปฏิสนธิ และจะมีอาการมากที่สุดประมาณสัปดาห์ที่ 8-12 และจะหายไปประมาณสัปดาห์ที่ 20 เชื่อกันว่าการที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นอาจเป็นสาเหตุของการแพ้ท้อง แต่ยังไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุที่ชัดเจนแน่นอน (Deuchar, 1995) นอกจากนั้น ยังพบว่าสามีหรือแฟนของหญิงตั้งครรภ์จำนวนมากที่มีอาการคล้ายการตั้งครรภ์ ซึ่งเรียกว่า ซิมพาธีเพ็น (sympathy pains) หรือทางการแพทย์เรียกว่า เคาเว็ดซินโดรม (couvade syndrome) (King, 1999)

อาการอื่นๆ ของการตั้งครรภ์ในระยะสามเดือนแรกนี้ ได้แก่ เต้านมขยายใหญ่และคัดตึง พบเส้นเลือดดำได้ชัดเจนที่เต้านม วงรอบหัวนมคล้ำมากขึ้น หัวนมขยายใหญ่ ปัสสาวะบ่อย และมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ไม่เป็นปกติ นอกจากนั้นยังรู้สึกเหนื่อยง่าย ระยะนี้จะมีพัฒนาการที่สำคัญเกิดขึ้น เมื่อบลาสโตซิสฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วจะเรียกว่า เอ็มบริโอ (embryo) จะมีการแบ่งเซลล์และมีการเจริญเติบโตที่เป็นลำดับ มักจะเกิดจากด้านหัวลงไปเท้า หรือจากหัวถึงหาง (cephalo-caudal, head to tail, development) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เยื่อบุชั้นนอกของบลาสโตซิส จะกลายเป็นส่วนที่ช่วยเกี่ยวกับสารอาหารและการป้องกันอันตราย ส่วนเยื่อบุชั้นในทั้งสามชั้นจะพัฒนาเป็นอวัยวะของร่างกาย เช่น ชั้นนอก (ectoderm) จะพัฒนาเป็นระบบประสาท ผิวหนัง และฟัน ชั้นกลาง (mesoderm) จะพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อ กระดูกและเส้นเลือด ส่วนชั้นใน (endoderm) พัฒนาเป็นอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ในสัปดาห์ที่สามของการตั้งครรภ์นี้ โครงสร้างส่วนกลาง ซึ่งเรียกว่า ท่อประสาท (neural tube) จะปรากฏชัดเจน ส่วนนี้จะกลายเป็นระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) สัปดาห์ที่สี่จะมีการก่อตัวของสายรก หัวใจและระบบทางเดินอาหาร ในสัปดาห์ที่หกจะพบว่าเอ็มบริโอมีหางซึ่งเป็นปลายของปุ่มกระดูก ในสัปดาห์ที่ 8 เอ็มบริโอจะมีความยาวเพียง 1.2 นิ้ว ซึ่งเป็นระยะที่อวัยวะทุกส่วนเริ่มพัฒนา หัวใจจะเต้น และกระเพาะอาหารจะเริ่มผลิตน้ำย่อย ส่วนตั้งแต่ระยะหลัง 8 สัปดาห์ไปจนคลอดนั้นจะเรียกว่า ทารกในครรภ์ หรือฟีตัส (fetus) (King, 1999)

ระยะไตรมาสที่สอง (The second trimester)

เดือนที่สี่และห้าของการตั้งครรภ์ มารดาจะรู้สึกว่าทารกในครรภ์เคลื่อนไหว ประสบการณ์ครั้งแรกของการเคลื่อนไหวเรียกว่า ลูกดิ้น หรือคิกเค้นนิ่ง (quickening) เมื่อผู้หญิงเริ่มรู้สึกว่ามีชีวิตน้อยๆ เคลื่อนไหวอยู่ภายในครรภ์ตนเอง ทารกในครรภ์จะถูกมองว่าเป็นบุคลคนหนึ่ง และความผูกพันทางด้านอารมณ์ของมารดาต่อทารกในครรภ์จะเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ ส่วนทารกในครรภ์จะเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางปากด้วยการดูด สัปดาห์ที่ห้าจะตรวจพบการเต้นของหัวใจ ทารกในครรภ์จะเปิดตา ดูดนิ้วและตอบสนองต่อแสง ในระยะปลายของไตรมาสที่สองนี้ ทารกในครรภ์จะยาวประมาณ 12 นิ้ว และหนักประมาณ 1 ปอนด์ หรือ 453 กรัม (King, 1999)

ระยะไตรมาสที่สาม (The third trimester)

ในระยะนี้หญิงตั้งครรภ์จะรู้สึกลำบาก ไม่ว่าจะเดิน นั่ง หรือนอน จึงมักจะเรียนรู้หาวิธีใหม่ๆในการนั่งหรือลุกจากเก้าอี้ และมักจะปวดหลังเนื่องจากต้องอุ้มน้ำหนักของทารกไว้ข้างหน้าทำให้จุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยนแปลงไป มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะไปเพิ่มแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะและกระเพาะอาหาร ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย อาจเกิดอาการแสบท้อง มีลมในกระเพาะและท้องผูกบ่อย การดิ้นของทารกอาจทำให้นอนหลับได้ลำบาก

ในปลายสัปดาห์ที่เจ็ดของการตั้งครรภ์ ทารกจะยาวประมาณ 15 นิ้ว และหนักประมาณ 680 กรัม เริ่มมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมที่ใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่แปดน้ำหนักทารกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่แปด ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 4 ปอนด์ หรือ 1,800 กรัม และในสัปดาห์ที่เก้าทารกอาจยาวถึง 50 เซนติเมตร และหนักถึง 3170 กรัม (King, 1999)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น